; การผ่าตัดต่อมทอนซิล Tonsillitis -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การผ่าตัดต่อมทอนซิล Tonsillitis



ต่อมทอนซิล (Palatine Tonsils) คือ เนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่มีลักษณะเป็นก้อน อยู่ลึกเข้าไปในช่องปากทั้งสองข้างใกล้โคนลิ้น ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่คอยดักจับเชื้อโรค

       
        นอกจากนี้ในทางเดินหายใจส่วนบน ยังมีเนื้อเยื่อน้ำเหลืองอีกหลายตำแหน่ง ได้แก่ หลังโพรงจมูก (อะดีนอยด์) ผนังคอด้านหลัง และโคนลิ้น

        เมื่อเกิดภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เจ็บคอ กลืนลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ หรือมีอาการปวดร้าวไปที่หู รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่หากอาการเป็นมาก ทานไม่ได้ อาจต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือและยาปฏิชีวนะทางกระแสเลือด

ในกรณีที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ดังนี้
        
        1. ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง เช่น มากกว่าปีละ 3 - 4 ครั้ง หรืออาการอักเสบแต่ละครั้งมีอาการรุนแรง หรือเป็นฝีรอบต่อมทอนซิล
        2. ต่อมทอนซิลมีขนาดโต ก่อให้เกิดภาวะอุดตันทางเดินหายใจขณะหลับ นอนกรน หายใจหรือกลืนลำบาก
        3. สงสัยว่าเป็นเนื้อร้ายของต่อมทอนซิล

        การผ่าตัดต่อมทอนซิลทำภายใต้การดมยาสลบ เป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องปาก โดยไม่มีแผลผ่าตัดให้เห็นจากภายนอก โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 3 - 4 คืน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต่อมทอนซิล

        1. ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และควรหายจากการเจ็บป่วยก่อน เช่น ไข้หวัด หรือต่อมทอนซิลอักเสบอย่างน้อย 2 สัปดาห์
        2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะต้องหยุดยาก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
        3. ผู้ป่วยจะต้องนอนในโรงพยาบาลก่อนการผ่าตัด 1 วัน เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนการผ่าตัด เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
        4. ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำหรืออาหารลงปอดขณะดมยาสลบ
        5. การเซ็นใบยินยอมรับการผ่าตัดในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องให้ผู้ปกครองตามกฏหมายเป็นผู้เซ็นรับรองให้

คำแนะนำหลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล

        1. อาการที่พบได้หลังการผ่าตัด ได้แก่ เจ็บคอ กลืนลำบาก เลือดออกจากในคอ มีไข้ หายใจไม่สะดวก เสียงพูดเปลี่ยน เหมือนอมอะไรในลำคอ ซึ่งเกิดจากเพดานอ่อนและลิ้นไก่บวม
        2. หลีกเลี่ยงการขาก กระแอมไอ หรือไอ เพราะอาจทำให้เลือดออกจากแผลผ่าตัด
        3. หลังผ่าตัดในวันแรกสามารถรับประทานอาหารได้ โดยเริ่มจากอาหารเหลว เย็น เช่น น้ำหวานเย็น นมเย็น ไอศกรีม โยเกิร์ต จากนั้นควรทานอาหารอ่อนที่ไม่ร้อน กลืนง่าย เช่น โจ้ก ข้าวต้ม ขนมปังนิ่ม อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
        4. หลีกเลี่ยงการรับประทนอาหารรสจัด เผ็ดร้อน อาหารแข็งๆ กรอบๆ
        5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อแผลผ่าตัด ได้แก่ เครื่องดื่มร้อน
        6. จัดท่านอนยกศีรษะสูงเล็กน้อย หรือนอนตะแคง โดยเฉพาะหลังผ่าตัดในช่วงแรกที่รอยแผลผ่าตัดยังบวม อาจทำให้หายใจไม่สะดวก
        7. ถ้ามีเลือดซึม ให้รีบอมน้ำแข็งร่วมกับประคบเย็น ถ้าเลือดออกไม่หยุด หรือออกมากผิดปกติให้รีบแจ้งพยาบาล หรือแพทย์ทันที
        8. รักษาความสะอาดภายในช่องปากหลังจากรับประทานอาหาร การแปรงฟันให้แปรงขึ้นลง ไม่ควรแปรงแบบหน้าหลัง เพราะอาจทำให้กระเทือนแผลผ่าตัด